เงินได้ที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน กรณีจ่ายเงินชดเชยให้หลายครั้ง (ทะยอยจ่าย) ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิแยกยื่นได้ครั้งเดียวในปีภาษีแรกที่จ่ายเงินได้เท่านั้น ในปีภาษีถัดไปไม่สามารถใช้สิทธิแยกยื่นได้ เพิ่มเติม กรณีเป็นการเลิกจ้าง (ลูกจ้างไม่ได้ลาออกเอง) เฉพาะเงินชดเชยที่จ่ายตามกฎหมายแรงงาน (เท่านั้น) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้มารวมคำนวณภาษีในส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
———————————————
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดลักษณะของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน และจ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้หมายถึงเงินได้ดังนี้
(ก) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
“(ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 73) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2540 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป)
(ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
(ง) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม (ก)
ข้อ 2 เงินได้พึงประเมินตามข้อ 1 ที่ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้
(ก) เป็นเงินได้ที่จ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี
(ข) ในกรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ 1 จากผู้จ่ายรายเดียวกันหลายครั้ง ไม่ว่าจะแบ่งจ่ายจากเงินประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะเงินได้ที่ได้จ่ายในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ดังกล่าวเท่านั้น
“ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่มีการจ่ายเงินได้ตามข้อ 1 ให้แก่ข้าราชการซึ่งได้ลาออกจากราชการตามโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินช่วยเหลือแก่ข้าราชการซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 83) ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป)
(ค) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในกรณีนี้ได้เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
“ข้อ 3 การเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ตามข้อ 1 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
(1) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ทั้งจำนวน
(2) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานนอกจากกรณีตามข้อ 1 (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ประเภทเดียวหรือหลายประเภทก็ตาม โดยจ่ายให้พร้อมกัน หรือทยอยจ่ายให้แต่อยู่ในปีภาษีเดียวกัน หากเงินได้พึงประเมินนี้รวมกันแล้วไม่เกินกว่าจำนวนเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ทั้งจำนวน
ในกรณีเงินได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่ กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน
“ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีข้าราชการซึ่งได้ลาออกจากราชการตามโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินช่วยเหลือแก่ข้าราชการซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ และได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามโครงการดังกล่าว โดยให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ทั้งจำนวน”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 83) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2542 เป็นต้นไป)
(3) กรณีได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) และยังได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานประเภทอื่น ๆ ตาม (ง) อีก โดยจ่ายให้พร้อมกันหรือทยอยจ่ายให้แต่อยู่ในปีภาษีเดียวกันให้นำเงินได้พึงประเมินนั้นมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกินเงินได้ตามข้อ 1(ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) และหรือ (ง) โดยหากเงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุอกจากงานตาม (ง) มีจำนวนเกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานก็ให้นำเงินได้ตาม (ง) มาคำนวณเพื่อหักค่าใช้จ่ายได้เพียงจำนวนเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน
ในกรณีเงินได้ตาม (ง) มีจำนวนไม่เกินกว่าเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน ให้นำเงินได้พึงประเมินตาม (ง) มาคำนวณเพื่อหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน
“ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีข้าราชการซึ่งได้ลาออกจากราชการตามโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้เงินช่วยเหลือแก่ข้าราชการซึ่งลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ โดยได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ (1)ก และยังได้รับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามดครงการดังกล่าวอีก โดยให้นำเงินได้พึงประเมินตังกล่าวมาเลือกเสียภาษี โดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ทั้งจำนวน”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 83) ใช้บังคับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2542 เป็นต้นไป)
(4) เงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงานตาม (2) และ (3) หมายความถึง จำนวนเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน ซึ่งเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้ายนี้ จะต้องไม่เกินเงินเดือนถัวเฉลี่ยของ 12 เดือนสุดท้ายก่อนออกจากงานบวกด้วยร้อยละ 10 ของเงินเดือนถัวเฉลี่ยนั้น”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 73) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2540 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป)
ข้อ 4 การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 ให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาคำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อ 2 และข้อ 3
ข้อ 5 ในกรณีเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าวข้างต้น โดยให้คำนวณและชำระภาษีถ้ามีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งที่เป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ที่ได้รับจากนายจ้างต่างรายกัน ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าวข้างต้น โดยนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวรวมกันแล้วให้คำนวณและชำระภาษีถ้ามี พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่สำหรับจำนวนปีที่ทำงาน ให้ถือจำนวนปีที่ทำงานกับนายจ้างในรายที่มีจำนวนปีที่ทำงานมากที่สุด
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำ พ.ศ. 2535 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2536 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
โกวิทย์ โปษยานนท์
อธิบดีกรมสรรพากร