เงินชดเชยที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ต้องเป็นเงินชดเชยที่จ่ายให้จากการเลิกจ้างเท่านั้น (ไม่ใช่กรณีพนักงานลาออกเอง แต่เป็นบริษัทให้พนักงานออก โดยพนักงานไม่มีความผิด) และต้องไม่ใช่กรณีเกษียณอายุ หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี 300,000 บาทนี้ ต้องเป็นการจ่ายชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเท่านั้น เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท
เลขที่หนังสือ |
: กค 0706/515 |
วันที่ |
: 18 มกราคม 2550 |
เรื่อง |
: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน |
ข้อกฎหมาย |
: ข้อ 2(51) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ |
ข้อหารือ |
: นาย ก. ทำงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและได้เกษียณอายุเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 โดยได้รับเงินชดเชยจากการเกษียณอายุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน นาย ก. จึงขอทราบว่าเงินได้จากการเกษียณอายุซึ่งเป็นเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานดังกล่าวนั้น เข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ตาม ก 3. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานของใบแนบแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย |
: เงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ ตามข้อ 2(51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนั้น กรณีนาย ก. ได้รับเงินชดเชยจากการเกษียณอายุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานตาม ก 3. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานของใบแนบแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา |
เลขตู้ |
: 70/34734 |