การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกรณีถูกเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ โดยสามารถใช้สิทธิแยกยื่น โดยคำนวณในใบแนบ ซึ่งจะหักค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาท x ปีที่ทำงาน เหลือเท่าไหร่ ให้หักค่าใช้จ่ายได้อีก 50% คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษี
เลขที่หนังสือ กค 0706/6342
วันที่ : 6 กรกฎาคม 2547
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการถูกเลิกจ้าง
ข้อกฎหมาย : มาตรา 48(5), มาตรา 50(1), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ
ข้อหารือ
นาย ภ. อายุ 57 ปี ซึ่งทำงานเป็นพนักงานบริษัท ท. จำกัด มาแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปี บริษัทฯ ได้ออกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่กำหนดให้ลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ต้อง เกษียณอายุการทำงานและรวมถึงลูกจ้างที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับด้วย โดยถือว่าลูกจ้างรายนั้นถูกเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุการทำงาน ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2546 ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่นี้และได้ทำงานมาแล้วตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่นี้มีผลทำให้นาย ภ. ต้องถูกเลิกจ้างเนื่องจากมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วในวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่นี้มีผลใช้บังคับและบริษัทฯ ได้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้แก่นาย ภ. แล้ว แต่นาย ภ. เห็นว่าการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทฯ ได้คำนวณไว้จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงหารือว่าการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายจากการเลิกจ้างมีวิธีการอย่างไร
แนววินิจฉัย
กรณีบริษัทฯ ได้กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุลูกจ้างเกษียณอายุโดยตกลงจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้สำหรับลูกจ้างที่ได้ทำงานมาแล้วตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เงินชดเชยที่นาย ภ. ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามข้อ 1(ค) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับจำนวนเงินที่นาย ภ. ได้ รับให้คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน แต่ไม่เกิน เงินได้พึงประเมินเหลือเท่าใดหักค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้น แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535
เลขตู้ : 67/33017