ปกติแล้วการนับอายุงานต่อเนื่องกรมสรรพากรให้นับได้เฉพาะที่ทำงานสุดท้ายเท่านั้น แต่จากข้อหารือนี้ (ปี 2555) จะพบว่า การใช้สิทธิแยกยื่นเพื่อเสียภาษีสำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนับอายุงานต่อเนื่องได้ ให้นับอายุงานในบริษัทผู้โอนกับบริษัทผู้รับโอน (กรณีไม่มีการโอนเงินกองทุนจะไม่สามารถนับอายุงานต่อเนื่องได้)
เลขที่หนังสือ : กค 0702/8892
วันที่ : 5 ตุลาคม 2555
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการนับอายุงานสำหรับการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) (2) มาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
1. บริษัท เอ. (นายจ้าง) ซึ่งเป็นนายจ้างของกองทุนฯ มีข้อตกลงเกี่ยวกับการรับพนักงานชาวต่างชาติที่โอนมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศเข้ามาเป็นพนักงานของนายจ้าง โดยให้นับอายุงานที่พนักงานปฏิบัติงานมากับบริษัทแม่ในต่างประเทศต่อเนื่องกับอายุงานที่ทำกับนายจ้างเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากนายจ้างเสมือนพนักงานทั่วไป รวมถึงสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย แต่ไม่ได้โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในต่างประเทศมายังกองทุนในประเทศไทย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(สำนักงาน ก.ล.ต.) ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตีความว่า เงินที่จะโอนเข้ามายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้นต้องเป็นเงินที่โอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้นต่อมาพนักงานชาวต่างชาติดังกล่าวได้ลาออกจากงานหรือกลับไปปฏิบัติงานที่บริษัทแม่ในต่างประเทศโดยมีระยะเวลาปฏิบัติงานกับบริษัทนายจ้างในต่างประเทศเป็นเวลา 4 ปี และมีระยะเวลาปฏิบัติงานกับนายจ้างในประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี รวมระยะเวลาปฏิบัติงานกับนายจ้างทั้งสองแห่งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 ปี
2. บริษัทฯ ได้หารือว่า เมื่อพนักงานดังกล่าวได้พ้นจากการเป็นลูกจ้างของนายจ้าง และได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เงินได้ที่พนักงานดังกล่าวได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย
1. กรณีการโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปพร้อมกับพนักงาน การนับจำนวนปีที่ทำงานของพนักงานเพื่อการหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นับอายุงานในบริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอนต่อเนื่องกันได้ แต่หากไม่มีการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังบริษัทผู้รับโอน ก็ไม่สามารถนับอายุงานต่อเนื่องได้
2. กรณีนายจ้างในประเทศไทยรับโอนพนักงานชาวต่างชาติของบริษัทแม่ในต่างประเทศเข้ามาเป็นพนักงานของนายจ้างโดยให้นับอายุงานต่อเนื่องเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนพนักงานทั่วไปรวมถึงสวัสดิการจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ไม่ได้โอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในต่างประเทศมายังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างในประเทศไทย กรณีดังกล่าว ไม่ว่าจะมีการโอนหรือไม่มีการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมายังบริษัทฯ ในประเทศไทยก็ไม่สามารถนับอายุการปฏิบัติงานในบริษัทแม่ในต่างประเทศผู้โอนและบริษัทนายจ้างผู้รับโอนต่อเนื่องกันได้เนื่องจากเงินที่โอนมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายไทยเท่านั้น ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องเขตอำนาจรัฐซึ่งใช้บังคับเหนือการกระทำทั้งหมดที่เกิดในดินแดนหรือในเขตอำนาจอธิปไตยในราชอาณาจักรไทย เมื่อพนักงานชาวต่างชาติซึ่งมีอายุการปฏิบัติงานกับนายจ้างในประเทศไทยเป็นเวลาเพียง 2 ปี จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานมาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นได้ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบข้อ 2(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 พนักงานชาวต่างชาติต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวมารวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ได้รับในระหว่างปี เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 75/38300