สรุปได้ดังนี้
- เงินได้ที่ได้รับจากการเลิกจ้าง (จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจาก) ที่จ่ายตามกฎหมายแรงงาน (เท่านั้น) ถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการยกเว้นภาษีเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท
- เงินส่วนที่เกินจากข้อแรก สามารถใช้สิทธิ์แยกยื่นแบบ ซึ่งในใบแนบจะหักค่าใช้จ่าย 7,000 x ปีที่ทำงาน ส่วนที่เหลือหักค่าใช้จ่าย 50% แล้วจึงนำไปคำนวณภาษี
- เงินที่ได้รับอื่นๆ (ที่ไม่ใช่เงินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เช่น เงินเดือน ค่าตำแหน่ง ฯลฯ ค้างจ้าง) ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) คำนวณเสียภาษีตามปกติ
เลขที่หนังสือ : กค 0811/608
วันที่ : 25 มกราคม 2544
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1), มาตรา 48(5), มาตรา 50(1)
ข้อหารือ
นาย ก. ทำงานอยู่ที่บริษัท A. จำกัด เป็นเวลา 16 ปี 9 เดือน ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้าย 110,416.67 บาท และในวันที่ 27 มีนาคม 2543 ได้รับหนังสือแจ้งการเลิกจ้างจากบริษัทฯ นาย ก. เห็นว่า บริษัทฯ เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จึงยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า เงินค่าตอบแทนการบริหารและเงินอื่น ๆ ตามระเบียบของบริษัทฯ เป็นเงิน 32,725,098.27 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2543 บริษัทฯ จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ยินยอมชำระเงินให้แก่นาย ก. โจทก์ เป็นเงิน 2,000,000 บาท และคู่ความไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ต่อกันอีก จากการจ่ายเงินดังกล่าว บริษัทฯ ได้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้เป็นเงิน 470,735.40 บาท แต่นาย ก. เห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ภาษีหัก ณ ที่จ่ายควรมีจำนวนเพียง 82,891.66 บาท นาย ก.จึงขอให้ศาลสั่งให้บริษัทฯ จำเลยวางเงินพร้อมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามที่โจทก์คำนวณไว้ และหารือว่า
1. นาย ก. ได้ทำงานที่บริษัทฯ เกือบ 17 ปี บริษัทฯ นายจ้างได้จ่ายเงินให้ครั้งเดียว เพราะเหตุออกจากงาน 2,000,000 บาท การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องปฏิบัติตามมาตรา 50(1) และมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2535 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ ใช่หรือไม่
2. กรณีบริษัทฯ นายจ้างคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ไม่ถูกต้อง นาย ก. ลูกจ้าง จะต้องยื่น ขอคืนภายหลัง ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย
1.กรณีบริษัทฯ จำเลยในฐานะนายจ้างตกลงยินยอมชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาทให้แก่ นาย ก. โจทก์ในฐานะลูกจ้าง ตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลในคดีดังกล่าว เพื่อเป็นการระงับข้อเรียกร้องของนาย ก. โจทก์ในคดีนี้ และข้อเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์คดีนี้ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีส่วนที่เป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ที่นาย ก. เรียกร้องจำนวน 1,104,165 บาทรวมอยู่ด้วย จึงถือได้ว่าบริษัทฯ จำเลยได้ชำระเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้แก่นาย ก. โจทก์ ด้วยแล้ว ดังนั้น เงินค่าชดเชยที่นาย ก.ได้รับในคดีนี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะส่วนที่ไม่เกินสามแสนบาท ตามข้อ 2(51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ เงินค่าชดเชยส่วนที่เกินสามแสนบาท ถือเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 (ค) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2535 นาย ก. ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นได้ ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ ดังกล่าวต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1)วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามข้อ 2 ข้อ 3(1) และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2535 แต่ผู้มีเงินได้ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาทแรก สำหรับปีภาษีนั้น ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 352) พ.ศ.2542 เนื่องจากมิใช่เป็นการคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนเงินที่นาย ก. ได้รับจากบริษัทฯ นอกจากนี้มิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงาน ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากรโดยบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ นายจ้างคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าผู้มีเงินได้ควรจะต้องเสียภาษี ถือว่าผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินไป ผู้มีเงินได้ต้องยื่นคำร้อง
ขอคืนเงินภาษีที่เกินนั้นได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปี ซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 64/30081